Arts for babies and kids – Kindergarten & Primary School

บทความน่าสนใจ

รวบรวมบทความน่าสนใจ การเรียนรู้ และ จิตวิทยาเด็กเล็ก

เร่งลูกเรียนวัยอนุบาล ดีแน่หรือ?

Early Academic Training Produces Long-Term Harm

เร่งลูกเรียนวัยอนุบาล ดีแน่หรือ?

เคยมีการทำวิจัยเปรียบเทียบการเร่งเรียนในระดับปฐมวัยกับการเรียนโดยผ่านการเล่นกันมามากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลที่ได้ตรงกันว่า การเร่งเรียนช่วยให้เด็กมีคะแนนสูงขึ้นทันทีในการทดสอบสิ่งที่เรียนมา แต่ผลที่ได้นี้จะหายไปในเวลา 1-3 ปี และจะกลับเป็นตรงข้ามไป อย่างน้อยก็ในงานวิจัยบางชิ้น ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าที่การเรียนวิชาการตั้งแต่เล็กไม่ได้ให้ข้อได้เปรียบทางวิชาการในระยะยาวก็คือ หลักฐานที่ชี้ว่ากลับจะส่งผลร้ายในระยะยาวเสียอีกด้วย โดยเฉพาะในด้านพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์

ช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลเยอรมันทำการศึกษาเปรียบเทียบเด็กที่จบจากรร. อนุบาลที่ให้เรียนผ่านการเล่น 50 แห่ง กับเด็กที่จบจากรร. อนุบาลเน้นวิชาการ 50 แห่ง แม้จะได้เปรียบทางวิชาการในระยะแรก แต่พอถึงป. 4 เด็กที่มาจากรร. อนุบาลเน้นวิชาการกลับสู้เด็กที่มาจากรร. อนุบาลที่ให้เล่นไม่ได้ในทุกมาตรที่ใช้วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความก้าวหน้าน้อยกว่าในด้านการอ่านและเลข การปรับตัวทางสังคมและอารมณ์ด้อยกว่า ช่วงนั้นเยอรมันกำลังจะเปลี่ยนจากการสอนอนุบาลโดยให้เด็กเล่นมาเป็นการเน้นวิชาการ เหตุผลบางส่วนจากการวิจัยนี้ทำให้เยอรมันกลับลำไปให้เด็กเล่นในอนุบาลตามเดิม

การวิจัยทำนองเดียวกันในอเมริกาก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน การทดลองของ David Weikart และคณะเมื่อปี 1967 แบ่งเด็ก 68 คนไปเข้ารร. อนุบาลแบบธรรมดาที่ให้เด็กเล่น แบบ High/Scope ซึ่งคล้ายแบบแรก แต่มีผู้ใหญ่คอยกำกับ และแบบเน้นวิชาการที่สอนอ่าน เขียน คำนวณ ผลการทดลองนี้ใกล้เคียงกับการวิจัยอื่น ๆ ในแบบเดียวกัน แต่การทดลองนี้มีการติดตามผลไปจนผู้เข้าร่วมอายุ 15 และอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 23 เมื่อถึงวัยนั้นไม่ค่อยมีความแตกต่างระหว่างแต่ละกลุ่มในด้านวิชาการ แต่กลับมีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงในด้านสังคมและอารมณ์

เมื่ออายุ 15 เด็กที่เรียนอนุบาลเน้นวิชาการเฉลี่ยแล้วมี “ความประพฤติผิด” มากกว่าเด็กอีก 2 กลุ่มกว่า 2 เท่า ครั้นอายุ 23 มีการกระทบกระทั่งกับคนอื่นมากกว่า มีความอ่อนด้อยทางอารมณ์มากกว่า

สิ่งที่ Dr. Peter Gray เห็นว่าอาจอธิบายถึงผลระยะยาวของรร. อนุบาลที่เร่งเรียนได้ก็คือ เป็นไปได้ที่ประสบการณ์ระยะต้นในโรงเรียนจะเป็นการเตรียมสำหรับพฤติกรรมในเวลาต่อมา เด็กที่เรียนรู้ที่จะวางแผนกิจกรรมของตนเองในห้องเรียน ได้เล่นกับคนอื่น ๆ มีการเจรจาเวลาที่มีความต่าง อาจพัฒนาแบบแผนตลอดชีวิตในการมีความรับผิดชอบและพฤติกรรมส่งเสริมสังคมขึ้นมา ซึ่งให้ประโยชน์เป็นอย่างดีตลอดวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ระยะต้น ส่วนเด็กที่ผ่านการเรียนเน้นวิชาการมาอาจพัฒนาแบบแผนตลอดชีวิตที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และการไต่เต้า ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับผู้อื่น และกระทั่งอาชญากรรม (ในฐานะปัจจัยที่เข้าใจผิดว่านำไปสู่การไต่เต้า) ได้

จาก Early Academic Training Produces Long-Term Harm
https://www.psychologytoday.com/blog/freedom-learn/201505/early-academic-training-produces-long-term-harm